Monday, June 11, 2007

พรบ.ภาพยนตร์ ฉบับใหม่บิดเบือน สาเหตุต้องลุกฮือประท้วง

หลังจากกรณีภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษไม่ผ่านเซ็นเซอร์ จนก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจ จนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มจากหลายๆ ฝ่าย ขึ้นเป็น เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการพิจารณาภาพยนตร์อย่างจริงจัง ซึ่งจากการติดตามพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมาทาง เครือข่ายฯ จึงตัดสินใจยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนก่อนที่จะส่งร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

เรื่องนี้ ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับหนังเรื่อง มะหมา สี่ขาครับ และไอ้ฟัก หนึ่งในเครือข่ายรณรงค์เสรีภาพของภาพยนตร์ ได้เล่าที่มาของการยื่นประท้วงว่า

เมื่อสัก 3 ปีที่แล้วมีคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเขาก็เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะมาทำพรบ.ภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องเซ็นเซอร์นี่ควรจะมียังไง ตัวแทนก็ประกอบด้วยกรรมาธิการศาสนาและวัฒนธรรม ก็จะมีตัวแทนจากฝ่ายศาสนาหลายฝ่าย แล้วก็มีผู้กำกับ ตัวแทนมูลนิธิหนังไทยก็จะอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการนั้นด้วย แล้วคณะอนุฯนั้นก็ได้ทำการออกประชาพิจารณ์ในจังหวัดใหญ่ๆ ประมาณ 3-4 จังหวัด เราคิดว่าด้วยเจตนารมณ์ที่อาจจะต้องการมีการฟันธงเลยว่า เมื่อประชาพิจารณ์แล้วจะได้สนับสนุนว่า เมืองไทยต้องเซ็นเซอร์ต่อไป

แต่เมื่อเขาออกไปทำประชาพิจารณ์แล้วผลมันกลับออกมาว่าให้เลิกเซ็นเซอร์ แล้วให้มีการจัดเรต แล้วคณะอนุฯเหล่านี้ก็ได้ทำการร่างพรบ.ขึ้นมา ตรงนั้นเรียกว่าพรบ.ภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาเป็นพรบ.ที่พูดเลยว่า ไม่มีเซ็นเซอร์ ควรจะสนับสนุนการจัดเรต แต่ว่าพอพรบ.นี้ส่งเข้าไปในคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา กฤษฎีกากลับไม่เห็นด้วย กลายเป็นว่า ต้องมีทั้งเซ็นเซอร์และเรตติ้งไปด้วย

เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่ว่าสังคมไทยไม่พร้อมเนี่ย บางทีมัน มันไม่จริง คนที่ไม่พร้อมเนี่ยมีอยู่ไม่กี่คน แต่เขามีอำนาจ แม้กระทั่งแม่ชีที่ไปร่วมฟังด้วย เขายัง เฮ้ย สังคมเขาพร้อมแล้วนี่ เขาอยากที่จะมีสิทธิเสรีภาพ แต่เสียงเหล่านั้นเนี่ย เมื่อสะท้อนเข้ามาปุ๊บ ไปถึงผู้มีอำนาจเนี่ย เขากลับเบี่ยงประเด็น พรบ.ตัวนี้ เรารู้ว่ามันเหมาะสมเพราะมุ่งเน้นการส่งเสริมควบคู่ไปกับการควบคุม แต่พอเข้าไปสู่กฤษฎีกา มันกลับถูกไปเน้นที่การควบคุม อันนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เรายอมไม่ได้ พันธุ์ธัมม์กล่าวสรุป

ตัวแทนเครือข่ายได้เดินทางไปยื่นจดหมายที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 14.30 น.โดยเนื้อความในจดหมายที่สำคัญ มีดังนี้

กลุ่มข้าพเจ้าเคยได้รับเชิญจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้เข้าร่วมประชุมให้ความคิดเห็นหลายครั้งตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเรียกร้องต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ แต่เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมรับฟังความเห็นแล้ว ปรากฏว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เคยให้พวกข้าพเจ้าเห็นผลสรุปที่ออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเลย

มาบัดนี้เมื่อพวกข้าพเจ้าได้เห็นร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ .. …. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปถึงคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเพิ่งพบว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติมิได้เป็นไปโดยทางที่สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ของพวกข้าพเจ้าที่ได้ร่วมให้ความคิดเห็นไว้ ซึ่งทำให้พวกข้าพเจ้าเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ ยังมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคมและข้าพเจ้าทั้งหลายในนามผู้มีส่วนได้เสีย แทนที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าฉบับเดิม กลับจะยิ่งมีข้อเสียกว่าเดิม โดยเฉพาะฉบับใหม่นี้ปรากฏว่ามีเจตนาที่จะให้อำนาจรัฐควบคุมมากกว่าที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม อันจะเห็นได้จากจำนวนสัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐเกือบทั้งหมด ซึ่งนี้แสดงว่า กลไกของรัฐไม่จริงใจในการรับฟังความคิดเห็นของราษฎรและไม่เคารพความเห็นของราษฎร นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในเนื้อหาข้อกำหนดหลายประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาที่รับฟังความเห็นจากพวกข้าพเจ้า ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริงได้

เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ดังนี้ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หอภาพยนตร์แห่งชาติ กลุ่มคณาจารย์และนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ กลุ่มไทยอินดี้ กลุ่มฟิล์มไวรัส ชมรมหนังสั้นแห่งประเทศไทย กลุ่มเยาวชนรักประชาธิปไตย กลุ่มละครมะขามป้อม กลุ่มละครบีฟลอร์เธียร์เตอร์ นิตยสารไบโอสโคป นิตยสาร CMYK และ วารสารปาจารยสาร รวมทั้งกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ที่ได้ลงชื่อสนับสนุนในwww.petitiononline.com/nocut ซึ่งมีจำนวนกว่า 6,300 ชื่อ