Monday, June 11, 2007

พรบ.ภาพยนตร์ ฉบับใหม่บิดเบือน สาเหตุต้องลุกฮือประท้วง

หลังจากกรณีภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษไม่ผ่านเซ็นเซอร์ จนก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจ จนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มจากหลายๆ ฝ่าย ขึ้นเป็น เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการพิจารณาภาพยนตร์อย่างจริงจัง ซึ่งจากการติดตามพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมาทาง เครือข่ายฯ จึงตัดสินใจยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนก่อนที่จะส่งร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

เรื่องนี้ ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับหนังเรื่อง มะหมา สี่ขาครับ และไอ้ฟัก หนึ่งในเครือข่ายรณรงค์เสรีภาพของภาพยนตร์ ได้เล่าที่มาของการยื่นประท้วงว่า

เมื่อสัก 3 ปีที่แล้วมีคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเขาก็เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะมาทำพรบ.ภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องเซ็นเซอร์นี่ควรจะมียังไง ตัวแทนก็ประกอบด้วยกรรมาธิการศาสนาและวัฒนธรรม ก็จะมีตัวแทนจากฝ่ายศาสนาหลายฝ่าย แล้วก็มีผู้กำกับ ตัวแทนมูลนิธิหนังไทยก็จะอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการนั้นด้วย แล้วคณะอนุฯนั้นก็ได้ทำการออกประชาพิจารณ์ในจังหวัดใหญ่ๆ ประมาณ 3-4 จังหวัด เราคิดว่าด้วยเจตนารมณ์ที่อาจจะต้องการมีการฟันธงเลยว่า เมื่อประชาพิจารณ์แล้วจะได้สนับสนุนว่า เมืองไทยต้องเซ็นเซอร์ต่อไป

แต่เมื่อเขาออกไปทำประชาพิจารณ์แล้วผลมันกลับออกมาว่าให้เลิกเซ็นเซอร์ แล้วให้มีการจัดเรต แล้วคณะอนุฯเหล่านี้ก็ได้ทำการร่างพรบ.ขึ้นมา ตรงนั้นเรียกว่าพรบ.ภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาเป็นพรบ.ที่พูดเลยว่า ไม่มีเซ็นเซอร์ ควรจะสนับสนุนการจัดเรต แต่ว่าพอพรบ.นี้ส่งเข้าไปในคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา กฤษฎีกากลับไม่เห็นด้วย กลายเป็นว่า ต้องมีทั้งเซ็นเซอร์และเรตติ้งไปด้วย

เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่ว่าสังคมไทยไม่พร้อมเนี่ย บางทีมัน มันไม่จริง คนที่ไม่พร้อมเนี่ยมีอยู่ไม่กี่คน แต่เขามีอำนาจ แม้กระทั่งแม่ชีที่ไปร่วมฟังด้วย เขายัง เฮ้ย สังคมเขาพร้อมแล้วนี่ เขาอยากที่จะมีสิทธิเสรีภาพ แต่เสียงเหล่านั้นเนี่ย เมื่อสะท้อนเข้ามาปุ๊บ ไปถึงผู้มีอำนาจเนี่ย เขากลับเบี่ยงประเด็น พรบ.ตัวนี้ เรารู้ว่ามันเหมาะสมเพราะมุ่งเน้นการส่งเสริมควบคู่ไปกับการควบคุม แต่พอเข้าไปสู่กฤษฎีกา มันกลับถูกไปเน้นที่การควบคุม อันนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เรายอมไม่ได้ พันธุ์ธัมม์กล่าวสรุป

ตัวแทนเครือข่ายได้เดินทางไปยื่นจดหมายที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 14.30 น.โดยเนื้อความในจดหมายที่สำคัญ มีดังนี้

กลุ่มข้าพเจ้าเคยได้รับเชิญจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้เข้าร่วมประชุมให้ความคิดเห็นหลายครั้งตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเรียกร้องต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ แต่เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมรับฟังความเห็นแล้ว ปรากฏว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เคยให้พวกข้าพเจ้าเห็นผลสรุปที่ออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเลย

มาบัดนี้เมื่อพวกข้าพเจ้าได้เห็นร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ .. …. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปถึงคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเพิ่งพบว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติมิได้เป็นไปโดยทางที่สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ของพวกข้าพเจ้าที่ได้ร่วมให้ความคิดเห็นไว้ ซึ่งทำให้พวกข้าพเจ้าเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ ยังมิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคมและข้าพเจ้าทั้งหลายในนามผู้มีส่วนได้เสีย แทนที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าฉบับเดิม กลับจะยิ่งมีข้อเสียกว่าเดิม โดยเฉพาะฉบับใหม่นี้ปรากฏว่ามีเจตนาที่จะให้อำนาจรัฐควบคุมมากกว่าที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม อันจะเห็นได้จากจำนวนสัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐเกือบทั้งหมด ซึ่งนี้แสดงว่า กลไกของรัฐไม่จริงใจในการรับฟังความคิดเห็นของราษฎรและไม่เคารพความเห็นของราษฎร นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในเนื้อหาข้อกำหนดหลายประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาที่รับฟังความเห็นจากพวกข้าพเจ้า ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริงได้

เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ดังนี้ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย มูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หอภาพยนตร์แห่งชาติ กลุ่มคณาจารย์และนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ กลุ่มไทยอินดี้ กลุ่มฟิล์มไวรัส ชมรมหนังสั้นแห่งประเทศไทย กลุ่มเยาวชนรักประชาธิปไตย กลุ่มละครมะขามป้อม กลุ่มละครบีฟลอร์เธียร์เตอร์ นิตยสารไบโอสโคป นิตยสาร CMYK และ วารสารปาจารยสาร รวมทั้งกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ที่ได้ลงชื่อสนับสนุนในwww.petitiononline.com/nocut ซึ่งมีจำนวนกว่า 6,300 ชื่อ

Sunday, May 27, 2007

ขอเชิญร่วมงานสัมมนา “จากเซ็นเซอร์สู่เรตติ้ง ทางออกที่เป็นไปได้”


เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกันจัดงานสัมมนา “จากเซ็นเซอร์สู่เรตติ้ง ทางออกที่เป็นไปได้” ขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของงานไม่เพียงแค่จะพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำระบบเรตติ้งมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายถึงกฎหมายควบคุมภาพยนตร์ ทั้งในมิติของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสื่อที่มีอิทธิพลในสังคม เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกๆ ฝ่าย
โดยงานสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรมากมายที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง คุณอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล (แสงศตวรรษ) คุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ (โหมโรง) คุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ (มะหมา สี่ขาครับ) นักวิชาการด้านภาพยนตร์อย่าง รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ ผศ.ดร.กฤษดา เกิดดี อ.ทรงยศ แววหงส์ นักวิจารณ์อย่าง คุณนิวัติ กองเพียร คุณประวิทย์ แต่งอักษร ตัวแทนกลุ่มสังคมอย่าง คุณสุภิญญา กลางณรงค์ (เลขาธิการคณะปฏิรูปสื่อ) พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี (ประธานเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองแห่งชาติ) ตัวแทนเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และตัวแทนจากภาครัฐ
งานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้น ในวันอังคารที่ 29 และพุธที่ 30 พฤษภาคมนี้ เวลา 9.30 – 17.00 น. (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) ณ แกลเลอรี่ 2 บางกอกโค้ด ศูนย์ชุมชนน่าอยู่กรุงเทพ (Bangkok Code) อยู่ริมถนนสาทรใต้ (ฝั่งโรงพยาบาลเซ็นหลุยส์) ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์
สามารถดูรายละเอียดและกำหนดการได้ที่ http://www.thaifilm.com/ สอบถามได้ที่ โทร 02-800-2716 และ 086-789-8323 หรือ thaifilmfoundation@gmail.com


กำหนดงานสัมมนา

จากเซ็นเซอร์ สู่เรตติ้ง : ทางออกที่เป็นไปได้
วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2550
9.30 -10.00 ลงทะเบียน
10.00 – 12.00 สำรวจเส้นทาง พรบ.ภาพยนตร์ 2473 กับ กรณีศึกษา
- ผศ.ดร. กฤษดา เกิดดี นักวิชาการด้านภาพยนตร์
- คุณอดิเรก วัฏลีลา โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์องคุลีมาล และผู้กำกับภาพยนตร์
- คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์แสงศตวรรษ
- คุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ที่เคยทำงานเป็นหนึ่ง ในทีมงาน คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์
ผู้ดำเนินรายการ คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต
12.00 – 13.00 พักเที่ยง
13.00 – 14.30 ภาพยนตร์ : ศิลปะแขนงที่เจ็ด
- คุณปรารพ เหล่าวาณิช รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย
- อ. ทรงยศ แววหงส์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และงานศิลปะ
- คุณนิวัติ กองเพียร นักเขียนและนักวิจารณ์ด้านงานศิลปะ
- คุณมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปิน
ผู้ดำเนินรายการ พิมพกา โตวิระ
14.30 – 15.00 ชา-กาแฟ
15.00 – 17.00 อิทธิพลของภาพยนตร์กับการเรียนรู้ของสังคม
- พ.ญ. กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายผู้ปกครอง แห่งชาติ
- คุณอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ตัวแทนเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ
- คุณนิมิตร์ เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
- อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องโหมโรง
- ด.ญ. ณัฐนรี จีระมณีมัย ตัวแทนเด็ก
- นางสาวชวนพร พิพัฒน์เสรีธรรม ตัวแทนเยาวชน
ผู้ดำเนินรายการ ลาวัลย์ จิระสุรเดช

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2550
9.30 – 10.00 ลงทะเบียน
10.00 – 12.00 ภาพยนตร์ : สื่อและกรอบของเสรีภาพ
- ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ นักวิชาการด้านกฎหมาย
- รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ นักวิชาการด้านภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์
- รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
- คุณสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะปฏิรูปสื่อ
- คุณเป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์
12.00 – 13.00 พักเที่ยง
13.00 – 17.00 สัมมนาโต๊ะกลม จากเซ็นเซอร์ สู่เรตติ้ง : ทางออกที่เป็นไปได้
- ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ นักวิชาการด้านกฎหมาย
- คุณลัดดา ตั้งศุภาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
- คุณอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ตัวแทนเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ
- คุณสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะปฎิรูปสื่อ
- ผศ. ดร.กฤษดา เกิดดี นักวิชาการด้านภาพยนตร์
- คุณโดม สุขวงศ์ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์
- คุณประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์
- คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์องค์บาก และต้มยำกุ้ง
- คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ตัวแทนเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพภาพยนตร์

หมายเหตุ วิทยากรอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

Tuesday, April 24, 2007

คำต่อคำ จากแสงศตวรรษสู่เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์


พิมพกา : ขอแนะนำผู้ร่วมเสวนาอีกครั้งนะคะ คนแรก คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เจ้าของหนังมีปัญหาเรื่อง แสงศตวรรษ ค่ะ คนถัดมาคุณปุ๊ก พันธุ์ธัม ทองสังข์ ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์และเป็นผู้กำกับหนัง ล่าสุดก็คือเรื่องมะหมาฯ นะคะ ท่านต่อไป คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว นายกสมาคมผู้กำกับไทย ท่านถัดไป คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ท่านเป็นกวีซีไรต์และนักเขียนค่ะ ท่านถัดไป คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต จากมูลนิธิหนังไทย ท่านสุดท้ายก็คือคุณป๊อด ธนชัย อุชชิน จากวงโมเดิร์นด็อกค่ะ


สำหรับวันนี้อาจจะยาวนิดนึงนะคะ แต่เราไม่อยากให้คุณเจ้ยออกมาพูดเฉยๆ ว่าหนังเขามีปัญหาอะไร แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเขา เราอยากให้ทุกท่านช่วยกันแสดงความคิดเห็นด้วยว่าเราควรแก้ไขปัญหากันอย่างไร ในฐานะผู้สร้าง ผู้ชม แล้วก็ผู้ที่ทำงานศิลปะในด้านอื่นด้วย ดูไปถึงขั้นนั้น


เริ่มจากเจ้ยก่อนเลยค่ะ ตอนนี้นอกจากเศร้าแล้ว อยากให้เล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับหนังที่ทำมาขนาดนี้ แล้วตอนนี้สถานการณ์เป็นยังไงบ้างค่ะ

อภิชาติพงศ์ : แน่นอนเศร้าครับ แล้วก็ช็อคมาก บอกตัวเองเสมอเลยว่าถ้าเกิดขึ้นกับเรื่อง สุดเสน่หา เราจะยังพอทำใจได้ เพราะในเรื่องนั้นมีฉากเซ็กซ์ คือส่วนที่สำคัญจริงๆ คือในบ้านเรายังไม่มีระบบเรตติ้ง แต่แสงศตวรรษนี่เราได้เจออะไรที่เป็นระบบจริงๆ เพราะว่าเรื่องก่อนหน้านั้นของผมนี่ เรื่องสัตว์ประหลาด, สุดเสน่หา, หัวใจทรนง ได้ทำผ่านสตูดิโอ เพราะฉะนั้นเราเลยไม่ได้เห็นขบวนการที่จะผ่านเซ็นเซอร์ แต่เรื่องนี้ยังจำได้ว่าคุยกับพี่หมูไบโอสโคป(สุภาพ หริมเทพาธิป) นะครับว่า เออ ลองดูมั้ย ทำหนังที่ไม่ต้องผ่านระบบสตูดิโอ แล้วก็ไปคุยกับโรงภาพยนตร์ดู เพื่อที่ว่าอาจจะมีเวทีใหม่ขึ้นมาสำหรับคนที่... อาจจะมีโรงหนังโรงนึง ที่ฉายหนังวิดีโอ ของนักศึกษา มีเวทีให้เขา ก็เลยน่าจะเริ่มด้วยเรื่องนี้ เพราะเป็นหนัง independence จริงๆ เราก็เลยผ่านไปขั้นตอนที่หนังสตูดิโอเขาก็เจอกัน ก็คือระบบเซ็นเซอร์ แล้วพอมีคำตอบกลับมาสำหรับแสงศตวรรษ อย่างที่ทุกคนก็รู้กันอยู่แล้วนะครับ เราก็เลยรู้สึกอย่างที่บอกคือ ช็อค รู้สึกเราได้เรียนรู้มากขึ้น ใจนึงเราก็ดีใจที่ว่ามันเป็นจุดกำเนิดทำให้ที่เกิดอันนี้ขึ้น ที่ให้เรามาคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบเซ็นเซอร์บ้านเรา รวมไปถึงระบบการทำหนัง สิทธิเสรีภาพของผู้สร้างแล้วก็ผู้ดูด้วย

พิมพกา : มาที่คุณปุ๊กนะคะ คุณพันธุ์ธรรม ต้องเล่าประวัตินิดนึงว่าจริงๆ แล้วคุณปุ๊กเคยอยู่ในคณะกรรมการเซ็นเซอร์ เป็นตัวแทนใช่มั้ยคะ เป็นหนึ่งในผู้พิจารณาทางภาพยนตร์ แล้วก็ล่าสุดเป็นผู้ที่เข้าไปพบ เข้าไปเจรจาการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษด้วย อยากให้คุณปุ๊กลองเล่าให้ฟังด้วยว่าจริงๆ แล้วขบวนการเซ็นเซอร์เป็นยังไง แล้วก็เล่าภาพของการที่คุณปุ๊กได้พบกับเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นกับแสงศตวรรษ

พันธุ์ธัม : ครับ สวัสดีทุกๆ ท่านนะครับ เรื่องแสงศตวรรษนี่ จริงๆ แล้วอย่างที่เจ้ยบอก เรื่องนี้เป็น independence เพราะฉะนั้นการจะเอาเข้าไปเซ็นเซอร์โดยไม่ผ่านสตูดิโอใด เป็นการผ่านทางไบโอสโคปเอาเข้าไป ผมเองในฐานะโปรดิวเซอร์นี่ จริงๆ แล้วถ้าเป็นเรื่องอื่นก็จะเข้าไปดูแล ถ้าเราคิดว่าหนังเรื่องนั้นจะมีอะไรที่ sensitive แต่สำหรับเรื่องนี้พอเราดูเราก็ไม่รู้สึกว่าน่าจะมีปัญหา ก็เลยไม่ได้เข้าไปดูด้วยตนเองตั้งแต่ตอนแรกที่เขาเซ็นเซอร์ แต่พอช่วงที่ทราบว่าทางไบโอสโคปส่งเข้าไปแล้ว ทางคณะกรรมการเซ็นเซอร์ชุดแรกที่ได้ดู มีการแจ้งว่า ขอไม่ลงมติ เนื่องจากว่ามีฉากที่ล่อแหลมต่อการพิจารณา เขาขอให้มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับซีนที่มีปัญหามาพิจารณาอีกครั้งนึง แล้วก็การพิจารณาวันนั้นนี่พอดีคุณเจ้ยไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ก็เลยโทรบอกให้ผมเข้าไป เพื่อที่จะได้ไปชี้แจงกับคณะกรรมการเซ็นเซอร์ ว่ามีเหตุผลในการทำหนังเรื่องนี้แบบนี้

แต่ก่อนอื่นขอทวนนิดนึงถ้าเผื่อหลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่าระบบเซ็นเซอร์ในบ้านเราเป็นไง คือระบบเซ็นเซอร์บ้านเราตอนนี้ ถ้าเซ็นเซอร์ภาพยนตร์จะเป็นกรมตำรวจมีหน้าที่ที่เป็นเหมือนผู้จัดการให้เกิดการเซ็นเซอร์ โดยเราจะต้องส่งไปให้กองทะเบียน จากนั้นทางกองทะเบียนจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นตัวแทน ผู้ที่จะพิจารณาภาพยนตร์ อาทิเช่น สมาพันธ์ภาพยนตร์ ตัวแทนจากคณะครูอาจารย์ที่สอนทางด้านภาพยนตร์ ตัวแทนจากตำรวจเอง ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม เขาจะเชิญตัวแทนเหล่านี้มาประมาณ 4-5 คน ผมก็คิดว่ากรรมการที่เขาเชิญมาในชุดแรก อาจจะไม่มีคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่เป็นซีนล่อแหลม เขาเลยขอนัดอีกครั้ง และการนัดอีกครั้งนี่เขาระบุว่าจะต้องมีตัวแทนจากแพทยสภา กับกรมศาสนาเข้ามา ซึ่งจะเป็นตัวแทนโดยตรงที่เกี่ยวกับฉากล่อแหลม 3-4 ฉาก โดยทางไบโอสโคปได้แจ้งว่า เมื่อกรรมการได้ดูแล้วขอให้ทางตัวแทนภาพยนตร์เข้าไปชี้แจงถึงสิ่งที่กำลังจะทำก่อนที่จะมีมติ วันนั้นผมก็ได้ไปกับคุณนพพร (นพพร ศักดานเรศ ทีมงานไบโอสโคป) แล้วก็ไปรออยู่ตั้งแต่ 11 โมง พอเขาดูหนังเสร็จ เราก็รอว่าเมื่อเขาเข้าห้องประชุม เราจะได้มีโอกาสไปชี้แจงก่อน แต่เหตุการณ์ที่เกิดในวันนั้นคือเขาก็พิจารณาไปเลย แล้วก็มีมติ พอเป็นดังนั้นเราก็เลยไม่มีโอกาสเข้าไปชี้แจง โดยในวันนั้นจะมีตัวแทนจากแพทยสภา ตัวแทนจากสมาพันธ์ภาพยนตร์ ตัวแทนจากกกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนจากคณะครูอาจารย์ที่สอนภาพยนตร์ แล้วก็มีตัวแทนกรมตำรวจ เท่าที่ผมทราบนี่ ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมน่าจะเป็นตัวแทนจากสวช.(กรมส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชาติ) ไม่ใช่จากกรมศาสนาโดยตรง ท่านนี้ก็เป็นผู้เสนอให้มีมติว่าขอให้ไม่ผ่านในฉากที่พระเล่นกีตาร์ โดยเหตุผลของเขาคือ ผิดศีลธรรม จริงๆ แล้วเขาจะขอให้ตัดอีกฉากหนึ่ง คือฉากที่เห็นพระเล่นเครื่องร่อน ตอนท้าย เขาบอกว่าเป็นอาการที่ไม่เหมาะสม อันนี้คือสองเหตุผลที่เขาขอให้ตัดนะครับ อีกสองฉากจะมาจากตัวแทนแพทยสภา โดยตัวแทนแพทยสภา ไม่ใช่คุณหมอ แต่เป็นประมาณเจ้าหน้าที่ เป็นนิติกรที่ทำหน้าที่ให้กับแพทยสภามาดูเรื่องนี้ เขาคิดว่าการที่มีฉากดื่มเหล้ากันในโรงพยาบาล กับการกอดจูบกันเขาขอให้ตัด โดยทั้งสองท่านก็ได้พยายามชี้แจงว่าเขาไม่ใช่ผู้ที่สามารถจะทำได้โดยตรง เขาขอให้ทางเราอุทธรณ์ก็แล้วกัน เพื่อจะให้ตัวแทนจากกรมศาสนาและคุณหมอมาดูอีกที เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามจะชี้แจงว่าหนังเรื่องนี้ทำด้วยเหตุผลอะไร และมีการเผยแพร่ในวงที่ไม่ใช่วงกว้าง อาจจะมีการจำกัด หรือมีการเรตติ้งตัวเราเองอยู่แล้วโดยฉายจำกัดโรง ก็ไม่ได้รับการชี้แจง

ในเหตุการณ์ที่เกิดในวันนั้น ผมขอประมวลคร่าวๆ ว่ามันเกิดจากการที่ ผู้ที่เป็นตัวแทนเซ็นเซอร์จากสถาบันที่เกียวกับซีนที่ล่อแหลมนี้ เขารู้สึกว่าเขาไม่ใช่ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องมารับผิดชอบ ผมคิดว่าประเด็นอยู่ที่เขาผลักความรับผิดชอบออกไปจะง่ายกว่า โดยการแค่ลงมติว่าขอให้ไม่ผ่าน อันนี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นครับ

พิมพกา : แล้วสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไงคะ หลังจากที่ได้รับข่าวว่ามีการยึดฟิล์ม เจ้ยคิดว่าจะอุทธรณ์ หรือว่าจะยังไงคะ

อภิชาติพงศ์ : ครับ คือตอนนี้เขาต้องการให้เราตัด แต่เราไม่ตัด คือพอเราไม่ยอมเราขอก๊อปปี้คืน แต่เราก็มีจดหมายไปว่า โอเค คุณไม่ยอมให้ฉาย เราก็ไม่ฉายนะ คือเราก็ไม่ฉายแล้ว คุณจะเอาอะไรอีก เขาต้องการให้ตัด 4 ฉากนี้ออกไป โดยที่เขาจะตัดเอง ก็เท่าที่รู้นี่คือ เขาก็เป็นแค่เครื่องอย่างนี้ (เป็นแค่โต๊ะตัวนึง) แล้วเขาก็แค่ใช้กรรไกรตัด (ผู้ฟังขำ) ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันลูกเรานะเว้ย ผมก็เห็นใจนะครับ โดยเฉพาะคนที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนกรมศาสนา หรือว่าแพทยสภาว่าคุณต้อง play save ว่าเขาเรียกคุณมานั่งแล้วเนี่ย คุณไม่ดูหนังทั้งเรื่องหรอก เท่าที่ผมรู้เนี่ย ระหว่างที่ฉายคุณก็เดินไปเดินมา พอดีคุณเข้ามาเห็น เฮ้ยฉากนี้ พระเล่นกีตาร์ไม่ได้ ก็คือเหมือนจับผิดน่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการกลัวระบบ การกลัวผู้ใหญ่ การกลัวว่าจะถูกเจ้านายด่า จะถูกสังคมด่า และกลัวถูกบอกว่าฉันไม่ได้ทำหน้าที่ของฉัน เพราะฉะนั้นก็เลยต้องแย้งขึ้นมาเพื่อจะให้มีสัญลักษณ์ว่าฉันได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าพวกกรมเหล่านี้ได้ดูหนังที่พระวิ่งหนีผี หรือว่าพระทำอะไรเพื่อที่ให้คนดูหัวเราะ อย่างนี้ผิดหรือเปล่า หรือหนังที่มีคำหยาบคาย ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าหนังพวกนั้นไม่ใช่หนังดีนะครับ แต่หมายความว่ามาตรฐานมันอยู่ที่ไหน แล้วกลุ่มกองเซ็นเซอร์ได้ดูหนังพวกนี้หรือเปล่า

เพราะฉะนั้นความผิดที่เรามองกันว่าผิด ผิด ผิดแน่นอน เพราะเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย และคนพวกนี้ไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะมาสั่งตัด แต่เขามีสิทธิ์ตามกฎหมายชาติที่แล้ว ก่อนที่เราจะมีการใช้ระบบประชาธิปไตยเสียอีก พอเราศึกษาไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกสงสารกลุ่มหนัง แล้วก็สงสารกลุ่มคนทำหนังด้วย กลุ่มคนดูด้วย ว่าทำไมบ้านเราถูกล้อมกรอบด้วยการตัดสินใจจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน เมื่อกรมศาสนาว่ามันไม่ถูกต้องทางศีลธรรม แล้วคุณเชื่อเขาหรือเปล่าในฐานะคนดู คุณมีสิทธิ์ตัดสินหรือเปล่า ทำไมคุณให้เขาตัดสิน ผมเลยจะบอกว่าระบบเรตติ้งถึงจะมีข้อเสียบ้าง แต่มันจะทำให้เขาได้รู้ว่าคุณไม่มีสิทธิ์มาตัดหนังเรานะ แล้วเมื่อหนังมันออกไป กรมศาสนาจะมาฟ้องมาอะไร(ทีหลัง) ก็ให้มันเป็นไปตามนั้น แต่ว่าต้องให้คนดูเห็นด้วย คนดูมีเสรีภาพที่จะตัดสินด้วยตนเอง

แล้วในส่วนของคนทำหนัง ได้ฟังตัวอย่าง เคยได้ยินว่าผู้กำกับบางคนนี่ มีเทคนิคต่างๆ นานาที่จะต้องผ่านเซ็นเซอร์ จะยัดเงินบ้าง หรือบางทีเข้าไปแล้วก็ชี้ด่าเลยนะ พวกมึงห้ามตัดหนังกู ไม่งั้นกูจะฟ้องศาลปกครอง แม้แต่ฉากเดียวก็ไม่ได้ คือเรารู้สึกว่า เฮ้ย แต่ผมทำอย่างนี้ไม่ได้นะครับ (ผู้ฟังหัวเราะ) (พิมพกา-เธอน่าจะลองนะ ) ใช่มั้ย ไม่งั้นทุกคนต้องเรียนรู้ประโยคนี้ แล้วต้องใส่แว่นดำ(ผู้ฟังหัวเราะ) เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันเป็นการถูกย่ำยี ถูกข่มขืนของคนทำหนัง คือโอเค กรมศาสนา เขาก็เป็นกลุ่มใช่มั้ย ซึ่งเซ็นเซอร์ก็เคารพในความคิดเขา แล้วคนทำหนังล่ะ เขาไม่เคารพเราหรือ แล้วไม่เคารพคนดูหรือ ในระบบประชาธิปไตยนี่น่ะ ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องนี้อีกแล้ว มีการมาถามว่า 4 ฉากนี้ จำเป็นแค่ไหนคะ จำเป็นแค่ไหนครับ(มันเหมือนกับ) ทำไมเราวาดภาพนี้ เอาสีแดงออกได้มั้ย เอาคนตาชั้นเดียวมาแทนตาสองชั้นได้มั้ย มัน nonsense น่ะ มันเป็นการดูถูกคนทำงานมากๆ ถ้าอย่างนั้นเนี่ย ทำไมไม่เปลี่ยนเป็นระบบเผด็จการไปทั้งประเทศ ซึ่งนี่เราไม่ได้ประชดนะ แต่หมายความว่า เราจะมีความสุขกว่ามากว่า แล้วเราจะได้ไม่ต้องมาคุยกันอีกว่ามันคือระบบอะไร สิ่งที่เราคิดนี่เราว่าไม่น่าจะไปจี้ที่กองเซ็นเซอร์ เพราะมันไม่ใช่ความผิดของเขา เขาทำตามหน้าที่ เพราะเขาทำด้วยระบบที่เกิดจากความกลัว ซึ่งไม่ใช่ในวงการภาพยนตร์ ผมเชื่อเลยว่าระบบราชการเนี่ย ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพราะความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น กลัวคนนั้นด่า กลัวคนนี้ด่า คนเลยไม่มีเสรีภาพ แล้วสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ตอนนี้คือ ประเทศไทยมันเหมือนหมู่บ้านนึงที่ทุกคนกำลังสร้างเกราะเหล็กล้อมประเทศ แล้วคนที่สร้างเกราะเหล็กก็คือประชาชน แล้วคนที่สั่งให้สร้างก็คือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน แต่ที่เรากลัวมากๆ เลย คือกลุ่มประชาชนก็ยินยอมด้วย อย่างเว็บที่เปิดการเสวนาอะไรขึ้นมาในเว็บพันธุ์ทิพย์นี่ บางคนก็บอกว่า ถ้าฉายไม่ได้ก็ตายไปซะ ถ้าไม่ยอมตัดตามเขาน่ะ คือถ้าพูดอย่างนี้แล้วเสรีภาพมันคืออะไรสำหรับคุณน่ะ มันคือการที่คุณไม่ยอมรับความคิดของคนอื่นหรือ

พิมพกา : เราถามกันว่ามาตรฐานการเซ็นเซอร์อยู่ตรงไหน คุณอภิชาติพงศ์บอกว่า อาจจะไม่ใช่เรื่องของคนแล้วตอนนี้ มันเป็นเรื่องของระบบหรือเปล่า มันเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติที่เขียนมาตั้งแต่พ.ศ.2473 หรือเปล่า แต่ก็ได้ยินว่าในระยะหลังมีการเสนอร่างพรบ.ฉบับใหม่ขึ้นมานะคะ ก็อยากจะให้พี่ปรัช ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการเคลื่อนไหวเห็นว่าร่างพรบ.ใหม่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง

อะไรหรือเปล่าในวงการภาพยนตร์ไทย

ปรัชญา : ในวงการหนังเรามีการพูดเรื่องตรงนี้มานานมากแล้ว กลุ่มผู้ชมหลายท่านอาจทราบความเคลื่อนไหวนี้อยู่แล้ว ด้วยเรื่องเดียวกันคือเสรีภาพในการนำเสนอ คือมันจะเกี่ยวพันกับการรับผิดชอบสังคม บ้านเรานี่หนังไทยยังถูกจำกัด ยังต้องถูกส่งงานไปให้เขาตรวจสอบ ในขณะที่สื่ออื่นๆ ไม่ต้องผ่านการนำเสนอ แม้กระทั่งสื่อทีวีเราก็ต้องผ่านไปให้รัฐบาลตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้เราก็ต่อสู้กันอยู่ด้านเดียว คือเราไม่เคยได้ชัยชนะกลับมา ในระหว่างการต่อสู้นั้น หนังที่ฉายในระหว่างการต่อสู้นั้นก็ถูกกระทำเหมือนหนังเรื่องนี้ ก็หาทางออกต่างๆ นานา บางทีก็ใช้อิทธิพลใส่เข้าไปบ้าง ใช้เงินบ้าง หรือว่ายอมบ้าง จนในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะเป็นโอกาสที่เราจะไปต่อสู้และพูดเรื่องพวกนี้ เราก็มีการศึกษารัฐธรรมนูญฉบับเก่า และฉบับใหม่ที่มีการร่างอยู่ตอนนี้ เราก็มีการติดตามว่า เขาจะมีการตีความและจัดให้ภาพยนตร์เป็นสื่อด้วยหรือเปล่า คือเราตระหนักแค่ตัวนี้ตัวเดียว ให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าภาพยนตร์ถูกเรียกว่าเป็นสื่อแล้วก็จะมีผลต่อพรบ.เรื่องที่ว่ามีการเซ็นเซอร์ ถ้าภาพยนตร์เป็นสื่อแล้ว ในรัฐธรรมนูญจะระบุว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะมาปิดกั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตรวจสอบ หรือระงับควบคุมการทำงานของเรา เราจะมีเสรีภาพในการนำเสนอ ต่อมวลชนได้โดยอิสระ ทีนี้ในแง่ของการรับผิดชอบสังคม เราก็คำนึงกันอยู่แล้ว การเสนอผลงานออกไปสู่ประชาชนมันต้องมีการจัดประเภทต้องจัดสรรให้เหมาะสมกับคนดู เพราะว่าวุฒิภาวะหรือวิจารญาณของแต่ละคนไม่เท่ากัน อันนี้เป็นเรื่องที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่าเราทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่ามาตรฐานการจัดประเภทภาพยนตร์ว่ามันเป็นยังไง ประเทศเพื่อนบ้านเขาเป็นยังไงเราคงทราบกันดีออยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ยากถ้าเราจะทำ คือถ้าเรามีการจัดเรตติ้ง ภาพยนตร์ก็จะไม่ถูกตัดไม่ให้ฉาย แต่พอไม่ใช่เรตติ้ง ก็จะมีแค่ให้ฉายกับไม่ให้ฉาย คือได้ กับไม่ได้ แต่ถ้าเรตติ้ง ถ้าได้ แต่ได้แบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นระบบเรตติ้งภาพยนตร์ของคุณเจ้ยก็คงไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าต้องจัดอยู่ในประเภทคนดูกลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เราเรียกร้องมันซับซ้อนหลายอย่าง บางทีมันเป็นเรื่องของการตีความภาษากฎหมายที่บางทีในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าระบุว่าเราเป็นสื่อ แต่การปฏิบัติอาจจะไม่สอดคล้อง อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อสาร โดยวิธีอื่นๆ ในที่นี้หมายถึงว่าเรามีเสรีภาพในการสื่อสารโดยวิธีใดก็ได้ ซึ่งผมว่าภาพยนตร์ก็น่าจะอยู่ในข้อนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าก็พูดเรื่องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ รัฐจะทำไม่ได้ ไม่สามารถจะปิดโรงพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ และริดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะพูดแต่เรื่องนี้แต่ไม่มีเรื่องภาพยนตร์เข้าไป อาจจะตีความเข้าใจผิด จึงเกิดพรบ.ว่าด้วยการเซ็นเซอร์ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การตีความมันสับสนวุ่นวาย ปัจจุบันรัฐธรรมนูญที่ออกมานี่ จึงรับฟังความคิดเห็นประชาชน มาตรา 45 หรือ 46 ว่าด้วยสื่อก็มีการระบุเหมือนกัน แต่เรื่องของภาพยนตร์ไม่มีการพูดถึง ซึ่งเหมารวมไปหมด อาจจะเป็นลำตัด โขน ลิเก ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะออกกฎหมายลูกตามมา จะเข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า

พิมพกา : ในส่วนนี้เราก็ทราบกันว่ามีโครงการจะร่างพรบ.ฉบับใหม่เกิดขึ้น กระบวนการนี้รู้สึกว่าจะใช้เวลานาน อยากจะให้คุณชลิดาซึ่งเคยเข้ารับฟัง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่ากระบวนการนี้ที่ร่างๆ กันอยู่ จะนำเสนอไปสู่ตรงไหน แล้วก็เรื่องเรตติ้งนี่มันอยู่ในนั้นยังไงบ้าง

ชลิดา : คือเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เรามีการสัมนาเรื่องแบบนี้กันบ่อยมาก จนเราเรียกกันว่า อีกแล้วครับท่าน เราเคยทำเรื่องเกี่ยวกับพรบ.ภาพยนตร์อีกแล้วครับท่าน เพราะว่ามันไม่ไปไหน จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ก็ไปถึงรัฐสภา ก็มีนักการเมืองที่สนใจ คิดว่าจะทำเรื่องนี้ มีการเชิญคนจากหลายๆ หน่วยฝ่ายทั้งผู้ที่ดูแลเรื่องกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ทั้งทั้งครูบาอาจารย์ ทั้งตัวแทนศาสนาต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ศาสนาพุทธเท่านั้น มีแม่ชี มีอะไรงี้ด้วย มาสัมนากัน รวมทั้งมีการเดินทางไปสัมนา 4 ภาค ตอนนั้นเขาเรียกว่าพรบ.ภาพยนตร์ม้วนเดียวจบ เพราะเขากะว่ามันจะต้องออกมาได้แน่ๆ หลังจากการประชุมหลายๆ ทีเขาก็มีบทสรุปออกมาว่า พรบ.ภาพยนตร์ฉบับเก่านี่มันล้าหลังไปแล้วแน่ๆ 2473 นี่ตั้งแต่ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลายๆ อย่างก็อาจจะครอบคลุม และตีความให้กว้างมากๆ จริงๆ ทำอะไรก็คลุมได้ว่าผิดตามมาตรา 4 ของพรบ.ได้ อยู่แล้ว เลยมีความคิดกันที่ว่า ต้องมีการทำพรบ.ฉบับใหม่ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพในการที่จะไปร่างกฎหมาย จำไม่ได้น่ะคะว่ากฎหมายฉบับนี้ร่างโดยใคร แต่หลายเดือนต่อมา กฤษฎีกาก็ได้ติดต่อมาว่าได้มีการร่างพรบ.ฉบับใหม่แล้ว ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายไปร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งพรบ.ฉบับใหม่พยายามที่จะรวมสองฉบับเข้าด้วยกัน ทั้ง 2473 ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ และวัสดุวิดีทัศน์ แล้วก็มีการขยายผลที่จะดึงรายการโทรทัศน์อะไรเข้ามาด้วย แต่ก็มีฝ่ายต่างๆ พวกกทช.เขาบอกว่าเขามีอะไรของเขาอยู่แล้ว ไม่อยากร่วม ก็จะมีฝ่ายต่างๆ เข้าไปนำเสนอ ซึ่งบทสรุปจากรัฐสภาก็คือว่า ได้นำเสนอมาเลยว่ามันควรจะเป็นระบบเรตติ้ง แต่กฎหมายฉบับใหม่ที่ร่างมานี่ก็ยังมีหลายประเด็นในเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพอยู่เยอะ มากเหมือนกัน ถึงแม้ว่าในตัวโครงก็จะพูดถึงเรื่องเรตติ้ง แต่ก็ยังมีการตัด คือมีการจัดประเภทแล้ว ก็ยังมีการตัดได้ มีการแบนได้ หรือแม้กระทั่งว่าคุณสามารถเอาบทมาให้ตรวจก่อนได้ ซึ่งดูๆ ไปแล้วอาจจะดูร้ายแรงกว่า (ที่เป็นอยู่ตอนนี้) นะคะ ตอนที่ไปประชุมนี้ ทางสมาพันธ์ภาพยนตร์ก็ไปประชุมในช่วงแรก และได้แสดงปฎิกิริยาว่าไม่รับฉบับนี้ และได้ walk out ไป แต่เขาก็ยังดำเนินเรื่องของการประชุมเรื่องนี้ต่อมาเรื่อยๆ แต่ดิฉันก็ยังได้ติดตามและเข้าไป defend บ้างค่ะ จนเขาถามว่าคุณกำลังต่อสู้เพื่อใคร คุณเป็นตัวแทนบริษัทไหนหรือเปล่า เราก็บอกว่าไม่ เราเป็นคนดู เรามีสิทธิ์ที่จะรับรู้ กฎหมายมันควรจะออกมาให้ทุกคนไม่ใช่เพื่อกลุ่มผลประโยชน์ใด กลุ่มผลประโยชน์หนึ่ง เราก็ได้ defend ไปทุกข้อ แต่ตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าร่างนี้ยังอยู่ในกฤษฎีกาหรือเปล่า คือจริงๆ ถึงแม้ว่าจะผ่านกฤษฎีกา ก็ยังมีอีกหลายๆ ขั้นตอน คือคนส่วนใหญ่เขายังไม่ค่อยเข้าใจ หรือแม้แต่คนที่เขียนกฎหมายเขาก็มีข้อที่เขา defend เพราะเขาไม่เข้าใจในเรื่องของหนัง เขาไม่ยอมรับในเรื่องของเสรีภาพน่ะ เขาบอกว่า เสรีภาพคุณมีได้แต่เราสามารถที่จะจำกัดคุณได้เมื่อเราออกกฎหมายมา เราเลยคิดว่าจริงๆแล้ว นอกจาการที่เราจะมาคุยกันเรื่องเซ็นเซอร์ เราต้องมาคุยกันด้วยหรือเปล่าว่าเสรีภาพที่เราอ้างกันมาในรัฐธรรมนูญนั้นจริงๆ แล้ว เรามีอยู่จริงหรือเปล่า เราตั้งคำถามในฐานะประชาชนธรรมดา ดิฉันไม่ได้ทำหนังนะคะ แค่อยากจะรับรู้ แค่อยากจะได้ดู เราจะต้องดูแผ่นผีซีดีเถื่อนตลอดไปหรือเปล่า ทำไมเราจึงไม่สามารถเดินอยู่ในแสงสว่างเหมือนคนอื่น ถ้าเรามองว่าภาพยนตร์คือปัญญา คือความรู้ มันเหมือนเราอ่านหนังสือเล่มนึง ทำไมเราถึงจะอ่านมันไม่ได้ล่ะ ก็เลยมองว่าตรงนี้เป็นประเด็นที่เราต้องมาถกกัน นอกจากที่เราต้องมาพูดเรื่องกฎหมายแล้ว



พิมพกา : อย่างนี้แสดงว่าระบบเรตติ้งที่เราพูดถึงตอนนี้มันอาจจะใช้ไม่ได้เหมือนกัน คุณเจ้ยว่ายังไงคะตรงนี้

อภิชาติพงศ์ : คือชอบเรตติ้งนะครับ แต่ว่าไม่ชอบเรตติ้งแบบนี้

ชลิดา : งั้นขอพูดเพิ่มอีกนิดนึง คือมันมีรายละเอียดไงคะ คือเรตติ้งมันมีหลายแบบ ผู้ปกครองเป็นคนจัดเรต ไม่ได้ผ่านกฎหมายอะไรใหญ่ๆ ด้วยซ้ำไป เป็นการรวมกลุ่มให้มีตรงนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะปกป้องผู้บริโภคด้วยกันได้ แต่เรามองว่าลึกไปแล้วมันคือเจตนาของกฎหมายว่ามองว่าภาพยตร์มันคืออะไรกันแน่ ถ้ามองว่ามันคือยาพิษหรือสิ่งชั่วร้าย ก็แน่นอนว่าการมาคุมก็ต้องเข้มงวดน่ะ คือมันขึ้นอยู่กับการที่เขามองไง มันเป็นเรื่องของทัศนคติ เป็นเรื่องของความเข้าใจที่จะต้องทำให้มันกว้างกว่านี้ เหมือนเครื่องมือ จะทำให้กว้างก็ได้แคบก็ได้ เราคิดว่าการควบคุมน่ะมีได้ แต่เรามีหลักประกันเรื่องเสรีภาพของเราแค่ไหน เรตติ้งในหลายๆ ประเทศ คือหลักประกันของคนทำ คือคุณทำมาได้ไง แต่คุณจะถูกจำกัดพื้นที่ คือมันเป็นจุดที่จะมาเจอกันได้ แต่ถ้าเป็นเรตติ้งแบบที่ทั้งตัด ทั้งแทรกแซง แล้วโทษมากขึ้นด้วย จะมีการติดคุกกันระนาวเลยล่ะ หลังจากนี้ถ้าคุณฉายจะติดคุก โดนปรับเป็นแสน คือมันน่ากลัวค่ะ

อภิชาติพงศ์ : คือเหมือนกับสื่อสารกันไม่เข้าใจว่าจะคุมกันไปถึงไหน เรตติ้งนี่โอเค แต่เรตติ้งแล้วมีการเซ็นเซอร์ มีการตัดด้วยนี่ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เรามาพูดกันในวันนี้คือเราต้องการอะไร คือในแสงศตรรษเนี่ย ขอให้มันมีเรตติ้งขึ้นมา แล้วถ้าเกิดมีกรมศาสนาขึ้นมาอ้าง แล้วเกิดความกลัวเหมือนเดิมในระบบ สมมติว่าให้เรต B Y K bad for your kids เนี่ย (ผู้ฟังหัวเราะ) เราก็ว่า โอเค ห้ามคนอายุต่ำกว่า 30 เข้าดู (ผู้ฟังฮา) เราก็จะโอเค ครับ ได้ๆ แต่ว่าอย่ามาสั่งตัดหนังผม ซึ่งตรงนี้ ผมก็ไปเวิร์คกับโรงหนัง เขาก็อาจจะไม่เอากับผมก็ได้ แต่ว่าอย่างน้อยผมก็ได้ฟิล์มขึ้น แล้วก็เป็นฟิล์มที่สมบูรณ์ แล้วก็มีไอ้เรตนี้แปะอยู่ แล้วผมก็อาจจะไปเวิร์คกับอย่างหอศิลป์ปทุมวันที่กำลังจะเปิด อาจจะเป็นเวทีนึง ซึ่งไอ้ BYK อาจจะถูกคุมทุก(หนัง)วิดีโอของเด็กที่จะทำกันต่อมา แต่อย่างน้อยก็คือไม่ตัด และในอีก 20-30 ปีอนาคตก็น่าจะมีโรงหนัง หรืออย่างน้อยก็น่าจะมีมิวเซียม แกลอรี่อะไรที่ยอมฉายหนังเหล่านี้ คือเรารู้สึกว่ามันเป็นสเต็ปที่ตื้นไปนิดนึงน่ะ

พิมพกา : ฟังดูเหมือนภาพยนตร์นี่มันน่ากลัวจังเลยนะ ใครๆ ก็ต้องรู้สึกว่ามันเป็นอันตราย ใครๆ ก็ต้องควบคุม มันไม่ปลอดภัยกับคนดู ไม่ค่อยไว้ใจในสิทธิ์มนุษย์คนนึงเท่าไหร่นัก จึงอยากจะถามพี่จี๊ด จิระนันท์ พิตรปรีชา เพราะพี่จี๊ดเป็นนักเขียน แล้วดูเหมือนการเขียนการแสดงความคิดเห็นในงานเขียน มันดูน่าอิจฉามากกว่า พี่จี๊ดมองเสรีภาพตรงนี้ยังไงบ้างในฐานะที่ทำงานศิลปะตรงนี้ ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะแขนงนึงเหมือนกัน

จิระนันท์ : จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานนะคะ แล้วสิ่งที่เซอร์ไพรส์มาก ไม่ใช่หนังของอภิชาติพงศ์ทำไมออกมาอย่างนี้ แต่สิ่งที่ประหลาดใจก็คือปฏิกิริยาของผู้มีอำนาจ ในการควบคุม ชี้แนะ หรือตั้งข้อจำกัดต่อสังคม ทำไมถึงเป็นแบบนี้ นั่งคิดมาหลายวันแล้วว่ามันเป็นเพราะอะไร ถ้าสมมติสัก 10 ปีก่อนนี้ ก็อาจจะผ่านสบายมาก หรือเราถอยหลังย้อนยุคกลับไป อยากจะได้เผด็จการคืนมา เอ๊ะ...ก็เปล่านี่นา เรากำลังเตรียมร่างรัฐธรรมนูญ กำลังเตรียมอะไรต่ออะไร พูดจาเป็นนามธรรมกันเยอะแยะ มากมาย แต่พอถึงปัญหารูปธรรมเล็กๆ อันนี้เป็นปัญหาเล็กๆ นะคะ เมื่อเทียบกับสิทธิเสรีภาพอันสามารถแสดงออกได้ห้าพันประการเนี่ย ทำไมถึงเป็นเรื่องขนาดนี้

พี่ไม่ได้เป็นนักเขียนอย่างเดียวนะ แปลหนังมา 300 กว่าเรื่อง เพราะฉะนั้นจะเป็นคนที่ได้ดูหนังฮอลลีวูด uncut เยอะมาก คือดูก่อนที่จะเอาไปให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ดู เพราะผู้พิจารณากองเซ็นเซอร์เนี่ย เขาต้องมีซับไตเติ้ลภาษาไทยให้อ่าน (ผู้ฟังหัวเราะ) เอาจากสถิติ เอาแค่ 300 เรื่องนี่นะ ยังไม่นับรวมกับที่เราไปดูเองในโรงหนังเนี่ย ไอ้ที่จะเป็นพิษเป็นภัย ถึงขนาดแต่งชุดเป็นแรมโบ้ เด็กเกาหลีออกมายิงกราดอะไรนี่นะ มันเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ว่าหนึ่งในเท่าไหร่ แล้วเรายินดีที่จะเอาเสรีภาพของเราไปแลกกับความปลอดภัยสัมบูรณ์ถึงขั้นนั้นหรือเปล่า รู้สึกว่ามันเป็นการกระทำที่เว่อร์สุขีด แล้วอีกประการหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือหนังบางเรื่องมันน่าจะตัดมากถ้ามาตรฐานที่เขากำหนด แต่ปรากฏว่าผ่านหมด เพราะอะไร เพราะเป็นฉาก love scene ที่มืดมัว มัวซัว มองไม่เห็นจุดต่างๆ บนร่างกายที่เขาบัญญัติไว้(ผู้ฟังหัวเราะ) เห็นแต่อากัปกิริยา หรือดูอย่างปกนิตยสารล่าสุดแต่งตัวเป็นชุดหุ่นยนตร์ผู้หญิงญี่ปุ่นแล้วก็เพนท์ทั้งตัวไม่มีหัวนมอย่างเนี่ย
ปรากฏว่าถ่ายได้สบายมาก
อันนี้สะท้อนอะไร สะท้อนวิจารณญาน วิจารณญาณของใคร คงไม่ใช่ของผู้ดู แต่เป็นวิจารณญาณของคนที่มีหน้าที่มาบอกเราว่าอะไรดูได้และอะไรดูไม่ได้ เป็นปัญหาว่าผู้ถ่ายทอดตีความกฎหมายซึ่งเขียนไว้เหมือนกับว่าหวังดีต่อประชาชน
แต่ท้ายที่สุดกลายเป็นการทำร้ายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
สมควรจะอยู่รึเปล่า เพื่อความปลอดภัยของพวกเราแน่รึเปล่า แล้วก็คิดต่อไปอีกว่าถ้าจำกัดสิทธิในการนำเสนอ ในเรื่องที่คุณปรัชญาพูดถึงเรื่องภาพยนตร์ในฐานะสื่อ แต่ถ้าจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยเนี่ยะมันเข้าขั้นแย่แล้วนะ เพราะศิลปะมันเป็นองค์ความรู้เป็นทั้งจิตวิญญาณ ทั้งความงดงามของมนุษย์ ใช่มั้ยคะ แล้วการตีความที่มีวิจารณญาณที่ค่อนข้างประหลาดๆ ต่อไปภาพประติมากรรมของปรมาจารย์ทั้งหลายที่โชว์อยู่แถวศิลปากร รูปเปลือยตั้งเยอะแยะ อาจจะต้องถูก paint ทำเบลอ เอายาหม่องไปป้าย (ผู้ฟังหัวเราะครืน) ใช่มั้ยคะ ใครเคยดูหนังเรื่องสิทธัตถะมั้ย หนังโบราณมากๆ กว่าจะบรรลุธรรมมาได้ต้องมีนางมายั่วยวน ต้องมีฉากเซ็กซ์ ฉากอะไรเยอะแยะ หนังชุดใกล้กันนี่ เรื่องพระเยซูเรื่องอะไรต่ออะไร เขาก็ทำกันมา คือไม่ได้บอกหนังเรื่องนั้นดีหรือไม่ดี แต่โดยหลักการแล้วนี่ วิจารณญาณของผู้ชมควรได้รับความเคารพบ้าง แล้ววิจารณญาณของผู้พิจารณานั่นแหละที่จะต้องถูกพิจารณา อันนี้เป็นคำถามใหญ่

จากเหตุการณ์ปะทะสังสรรค์ครั้งนี้ มันทำท่าจะนำไปสู่การตีความ ตีเป็นตัวบทกฎหมายที่ต้องยิ่งระวังภัยยิ่งขึ้น คือตัวเองคิดว่ามันเป็นภัยยิ่งขึ้น ก็เลยต้องออกมาพูดกันตรงนี้ ถ้าลำพังแค่หนังสือนะ เพราะนักเขียนสบายอยู่แล้ว แยกกันค่อนข้างชัด ประเภทหนังสืออนาจาร หนังสือลามกทั้งหลาย กับพวกวรรณกรรมมันเห็นชัดๆ แต่ในภาพยนตร์มันไม่ได้เพราะต้องนำเสนอตัวละครในหลายมิติและเป็นภาพเป็นเสียง เพราะฉะนั้นมันขีดคั่นกันไม่ได้ เรามีพรบ.สื่ออาราจารลามกให้จับกันอยู่แล้ว คุ้มครองความปลอดภัยของสังคมอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ไปเดินพันธุ์ทิพย์ พลาซ่านี้(ผู้ฟังขำ) ก็รู้สึกว่ายังเกร่ออยู่ แต่ภาพยนตร์จะตกเป็นเหยื่ออย่างมากในแง่ของการตัดสินวิจารณญาณทำนองนี้ก็เลยคิดว่า

อันนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ในฐานะรัฐธรรมนูญใหม่ แสงแห่งเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิส่วนบุคคลอะไรต่ออะไร กำลังรำไรมา ก็ไม่อยากให้ภาพยนตร์ตกขบวน เพราะจริงๆ แล้ว ภาพยนตร์เป็นสื่อหรือเป็นศิลปะที่มีอาณุภาพต่อสังคมอย่างสูงมากๆ อย่างที่คุณอภิชาตพงศ์พูด อันนั้นเห็นด้วย เพราะเห็นหนังสือพิมพ์ทีละ 5,000 เล่มคนอ่านก็ประมาณคูณสองหรือว่าลบก็ไม่รู้ล่ะ แต่ว่าภาพยนตร์นี่ฉายเพียงอาทิตย์เดียวนี่ต้องดูกันทั้งประเทศ ซึ่งถ้ามันจะมีผลต่อสังคมจริงล่ะก็ สังคมส่วนที่รับไป ก็สามารถรับได้ทั้งด้านที่มันเป็นจิตวิญาณของการสร้างด้วยก็คือสิทธิเสรีภาพการสร้างสรรค์ส่วนบุคคล ซึ่งถ้าปราศจากสิ่งนี้แล้ว ต้องดูอย่างสังคมนิยมจีนยุคท่านประธานเหมา ปีนึงดูหนังกันอยู่ 8 เรื่องนะ ต้องดูแต่ประเภทดราม่าปฏิวัติ เปล่งคำขวัญกันตลอดอย่างนี้ เราจะเอามั้ย หรืออย่างยุคตาลีบัน ในอัฟกานิสถาน แม้แต่ในงาศพยังห้ามตีกลองเลย คือปฏิเสธความบันเทิงทุกประเภท แล้วต้องขึ้นอยู่กับการตีความของท่านผู้ปกครอง เรากำลังพูดถึงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย แต่ขออย่าให้ป้ายอันนั้น เสื้อคลุมอันนั้น ที่ยกชูกันสลอนเนี่ยนะ มาปกปิดความอัปลักษณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในด้านมืดของวงการสื่อภาพยนตร์



พิมพกา: เราได้เห็นว่าเสรีภาพของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์มันยากมากเลยนะคะ ต่อให้พูดถึงพ...วันนี้ก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะดูจะเป็นเรื่องยากมาก ทีนี้สิทธิของคนดู เสรีภาพของคนดูมันมีมั้ยคะ คุณป็อด เพราะคุณป็อดได้ดูหนังเรื่องแสงศตวรรษแล้ว คุณป็อดคิดว่าเป็นหนังที่คนอื่นควรได้ดูรึเปล่า หรือว่าควรตัด 4 ฉากนั้นทิ้งก่อนแล้วค่อยดู

ธนชัย : อยากจะให้คนอื่นได้ดูเพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่สะท้อนพฤติกรรมมนุษย์ 4 ฉากที่ถูกตัดมันคือพฤติกรรมมนุษย์ในรูปทรงต่างๆ อย่างเช่นพระก็มนุษย์คนหนึ่งที่กำลังแสวงหาหนทาง พฤติกรรมต่างๆ หนังก็ได้สะท้อนสิ่งต่างๆเหล่านั้น เหมือนกับอยากจะให้ทุกคนได้คิดเอาเอง แล้วก็ดูว่าสิ่งนั้นที่เกิดขึ้นมันคืออะไร เราคิดยังไงกับมัน ผิดถูกชั่วดีเรารู้สึกเองได้ แต่ไม่อยากให้ถึงกับจะปิดกั้นหรือถึงขนาดที่ว่ายึดฟิล์มไป แล้วก็ตัดโอกาสไม่ให้ใครได้สัมผัสมันเลย ผมรู้สึกว่ามันเข้าขั้นอุกอาจ แล้วก็สมควรได้รับการพิจารณาและได้รับการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว คือผมเชื่อว่าทุกอย่างงานศิลปะทุกชิ้นมันมีที่ทางของมันที่จะได้แสดงออก แต่ว่าการที่มันถูกปิดโอกาสไปเลย ผมคิดว่ามันหนักหนา หนักหนามากนะ

พิมพกา : แล้วเวลาที่ทำดนตรีเคยเจอประสบการแบบนี้บ้างมั้ยที่มีการถูกห้ามอะไรแบบนี้

ธนชัย : ยังครับเพราะยังไม่มีเพลงที่จะไปกระทบอำนาจหรือว่าสถาบันใดๆ ก็เลยยังไม่โดน ผมก็เชื่อว่าสถาบันต่างๆมีความ sensitive ในตัวเองอย่างสถาบันศาสนาหรือว่าองค์กรอะไรก็ไม่อยากจะให้ภาพลักษณ์ของตัวเองเสื่อมเสียใช่มั้ยฮะ เขาก็จะพยายามปกป้องตัวเองให้มากที่สุด แต่ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นภาพแห่งความจริงอันนึง ที่เขากล้าพอที่จะยอมรับภาพเหล่านั้นรึเปล่า เหมือนที่เราไปเดินสะพานเหล็กแล้วเจอหลวงพี่เลือกซีดีอะไรกันอยู่(ผู้ชมหัวเราะ) ก็เป็นสิ่งที่เราก็เห็นกันอยู่แล้ว แต่ว่าเขาอาจจะไม่อยากจะโชว์มันออกมา

อภิชาติพงศ์ : อยากจะเสริมนิดนึงว่าเราว่ามันเป็น Protective state คือเป็นสังคมที่พยายามจะคิดให้คน คือพยายามจะปกป้อง มันเหมือนกับว่าเขาอาจจะตี (ค่าเรา) ไว้ประมาณเด็ก 5 ขวบ 5 ขวบกันทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นอย่างที่คุณป๊อดบอก เขาจะไม่มีการวิเคราะห์ไม่มีการ process ข้อมูลเอง เหมือนกับที่คุณโดม (สุขวงศ์) ว่าคนเรามันต้องหัดให้เสพย์อะไรที่...คือคนเรามันต้องมี immune system (ภูมิต้านทานเชื้อโรค) บ้าง ต้องมีตัวต้านทานบ้าง ต้องได้เจอของ.. แต่นี่ไม่ได้พูดถึงแสงศตวรรษนะ เพราะแสงศตวรรษนี่บริสุทธิ์มาก (ผู้ชมหัวเราะ) แต่เราพูดถึงหนังทุกเรื่องแม้แต่ โกยเถอะเกย์ หรือว่าอะไรก็ตาม เรามองว่าคนสร้างเขาก็มีวิจารณญาณของเขา เรามองว่าถ้าจะต้องโอ๋เด็กไทย อายุ 20 กว่าแล้วยังต้องโอ๋เนี่ย คือผมช่วงนี้ได้ไปทำ workshop ไปสอนหนังสือในหลายๆ ที่ ไปที่สวิสเซอร์แลนด์ ไปที่อเมริกา เราเห็นได้ชัดเลยว่าเด็กอายุ 20 กว่าเนี่ย ของไทยกับของเขานี่มันต่างกัน ความคิดมันต่างกัน เพราะเขามีความคิดของตัวเองเยอะมาก แล้วเขาไม่ขี้แง ไม่งอแง คือเขาจะไม่รอให้คนมาช่วย เขาจะช่วยตัวเอง แล้วเขาก็จะมีความคิดของตัวเอง ผมโชว์หนัง บางทีพอเขาไม่เข้าใจเขาก็ถาม เขาไม่มานั่งคิดว่าโอ๊ยหนังเรื่องนี้ได้รางวัลต้องดีอย่างนั้นต้องดีอย่างนี้ เราถามไม่ได้ คือถ้าเราไปปิดกั้นความคิดเขาเนี่ยะแล้วเขาจะวิเคราะห์อะไรเป็นรึเปล่า ในเมืองไทยก็เหมือนกัน ซึ่งบางคนเอง หลายคนเลยอาจจะไม่ชอบหนังของผมคุณก็ไม่ต้องดูสิ คือเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าให้อายุสมองคนมันดิ่งลงเหว ที่เรากลัวน่ะ เรากลัวหลานเรามันจะโง่เท่านั้นเอง

พิมพกา : จริงๆ เราต้องการอะไรกันคะ เราต้องการกองเซ็นเซอร์ที่ดีมีมาตรฐาน หรือเราอะไรที่จะทำให้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผยแพร่ภาพยนตร์ หรือการดู ที่จะไปได้ในวงกว้างกว่านี้ หรือเราต้องการพระราชบัญญัติที่เราพอใจ เริ่มจากคุณป๊อดก่อนค่ะ

ธนชัย : คิดว่าเราต้องการที่ทางของงานศิลปะนะครับ หมายถึงที่สำหรับศิลปะ จริงๆ ผมก็หมดหวัง หรือแทบจะไม่หวังกับรัฐบาลอะไรมากมาย คือรู้สึกว่ามันซับซ้อนมาก มันมีเรื่องของอำนาจ มีเรื่องของเงิน มีเรื่องของอะไรต่างๆ จนกระทั่งผมไม่อยากจะหวัง แต่ผมคิดว่า มันควรจะมีที่ทางของมัน อย่างเช่นถ้าภาพยนตร์นี้หมดสิทธิ์จะฉายในโรง ก็อาจจมีโอกาสในการที่จะได้ฉายในmuseum หรือว่าในสถาบันเล็ก ที่คนที่สนใจจะมาดูกันเอง แต่ไม่ถึงกับตัดสิทธิ์ แล้วก็ตัดส่วนที่เขาไม่ต้องการ แล้วก็ยึดฟิล์ม มันเหมือนตอนสมัยผมเป็นนักเรียนมัธยมแล้วก็ครูจะมาตัดผมนักเรียนที่ผมยาว แต่ตัดตอนกำลังนั่งสอบอย่างนี้นะฮะ (ผู้ฟังขำ) คือความรู้สึกเดียวกันเป๊ะเลย เฮ้ย กูทำอะไรไม่ได้เลย กูต้องสอบ แล้วมึงก็มาตัดหัวกูอะไรงี้(ผู้ฟังหัวเราะ) กูก็เฮ้ย กูโตแล้วนะ กูก็ 30 กว่าแล้ว มึงไม่ให้กูผมยาวอีกสักนิดนึงไม่ได้หรือ ทุกวันนี้ผมก็สั้นกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว(ผู้ฟังหัวเราะครืน) คือกูคิดเองได้นะ ก็คือขอแค่ที่ทางที่เหมาะสมเท่านั้นเอง เพราะเราไม่หวัง โอเค ขนาดพี่เจ้ยเขาก็อาจจะคิดแค่สองโรง โอเค ไม่ฉายในประเทศไทย ก็โอเค ไม่ฉายก็ได้ ไม่ได้พูดว่าหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ดีหรือยังไง แต่ว่าควรจะให้โอกาสเขานำเสนอในสิ่งที่เขาคิด สร้างสรรค์ แล้วก็พยายามตั้งใจมุ่งมั่นให้มีที่ทางของเขา

พิมพกา : คุณชลิดาล่ะคะ

ชลิดา : เคสนี้ถ้ามันเปิดออกไปได้มันจะเป็นเหมือนexercise เรื่องประชาธิปไตยด้วย แล้วตอนนี้มีความขัดแย้งในสังคมเยอะมาก มีกลุ่มต่างๆ เยอะมาก คือในตอนนี้อย่างแสงศตวรรษก็ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วย ก็มีคนคิดอย่างอื่นแหละ แต่มันจะเป็นแบบทดสอบแหละว่า แล้วเราจะอยู่ด้วยกันบนความเห็นที่แตกต่างได้ยังไง ถ้าเกิดว่าท่านกรรมการเซ็นเซอร์จะพูดว่า อ้าว..สมมติว่าไม่มีกรรมการเซ็นเซอร์แล้ว เดี๋ยวกลุ่มพระเขาก็จะมาประท้วง เราคิดว่าวิธีการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นคือ excercise ที่เราจะอยู่ด้วยกันได้ สมมติว่าหนังเรื่องนี้ถูกฉายออกไป ผ่านเรตติ้งผ่านเซ็นเซอร์ไม่มีปัญหา กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับหนังก็มีวิธีที่จะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยบนพื้นฐานของประชาธิปไตย เราไม่มีอะไรที่ต้องกลัว เหมือนมันมี safe guard มันมีโหมดอื่นๆ น่ะ เราคิดว่ามันเป็น exercise ไง ถ้าเราคิดว่าเราไม่เห็น เราก็ไม่ต้องไปฆ่าเขา เราก็แค่บอกว่าเราไม่เห็นด้วย การวิจารณ์หนังอย่างกว้างขวางก็เป็นวิธีนึง เพราะว่าที่ผ่านมาโดยเฉพาะหนังไทยถูกวิจารณ์น้อยมาก ยังน้อยเกินไป เราไม่มีการ exercise ในทางประชาธิปไตย ไม่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างถูกต้อง เพราะเราคิดว่าพอมีสถาบันบอกว่าอันนี้โอเค มันจะดีแล้ว สิ่งที่เราหวังจะเห็นก็คือ หนึ่ง แน่นอนก็คือการแก้ไขทางด้านกฎหมาย เพราะตอนนี้มันบังคับอยู่ แต่นอกเหนือจากการปลดแอกตรงกฎหมายแล้วเนี่ย เราจะexcercise เสรีภาพนี้กันยังไง ซึ่งแรกๆ อาจจะดูวุ่นวาย เหมือนไม่ชิน ทำไม่เป็นอาจจะงงๆ กันอยู่ แต่เราคิดว่าสักพักนึง ทุกคนจะเข้าใจในกฎกติกา แล้วเราจะอยู่กันอย่างมีความสุข บนพื้นฐานของความแตกต่างได้ดีขึ้นค่ะ เราน่าจะใช้ตรงนี้เป็นโอกาส มันไม่ใช่แค่ต่อสู้เพื่อหนังอย่างเดียว เราคิดถึงสังคมที่เป็นสุข ที่เราอยากจะอยู่ด้วย

พิมพกา : คุณจิระนันท์ล่ะคะ

จิระนันท์ : คือตอนนี้น่ะประเทศอื่นๆ เขาก็เปลี่ยนกันไปหมดแล้วนะคะระบบการเซ็นเซอร์ อย่างเพื่อนบ้านเราประเทศลาวที่เราไปดูถูกเขานักหนาเนี่ย คือถ้าไม่อยากคิดเอง ไปตามแบบประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาก็ได้นี่คะ ถ้ารักหน้ารักตาหน่อยก็ดีแล้ว อันดับที่สองสิ่งที่เรียกว่ากองเซ็นเซอร์ กองพิจารณาอะไรต่ออะไรนี่ โปรดไปพิจารณาตัวเองโดยด่วน(ผู้ฟังปรบมือ) เพราะว่าเมื่อเช้านี่เปิดทีวีว่าจะมาดูข่าว พอดีมีมิวสิควิดีโอนะคะ ก็เหลือเชื่อมหัศจรรย์ยิ่งกว่าสัตว์ประหลาด หรือแสงศตวรรษหลายร้อยเท่านะ คือในมิวสิควิดีโอมีตุ๊กตาแต่งตัวเหมือนตัวโนม หรือซานตาคลอสก็ไม่รู้แหละ เดินส่ายดุ๊กดิ๊กๆ แล้วก็โก้งโค้ง แล้วกางเกงก็เปิดเห็นแก้มก้น แล้วก็มีเบลอตรง(ก้น)นั้น ตุ๊กตานะคะ คือคนไม่ได้นี่ก็ยังพอจะเข้าใจ แต่นี่ขนาดตุ๊กตาไม่ได้นี่มันจะบ้าไปหน่อยแล้ว ในขณะที่ปิดทีวี มาเปิดไทยรัฐ โอโห ภาพข่าวมาเต้นโชว์อะไรเนี่ย มันชัดเจนยิ่งกว่าอะไร คือ double standard พวกนี้ต้องเลิกให้หมด เพราไม่งั้นสังคมไทยจะไปสู่ทิศทางมือถือสากปากถือศีลทุกขณะจิต แล้วเราก็มาประกาศว่าโอ๊ยเรามีธรรมมะ เราอยู่เมืองพุทธ เราดูถูกเพื่อนบ้าน ชาติ ศาสนาอื่น เหล่านี้ กลายเป็นว่าเรานั่นเองนั่นแหละที่ไม่เข้าท่าที่สุด อันนี้ต้องถือว่าเป็นความอัปยศแห่งชาติ วาระหนึ่งเหมือนกัน คืออยากจะภูมิใจ แต่มันภูมิใจไม่ออก เอ๊ะ ตอบคำถามหรือเปล่าเนี่ย (ผู้ชมฮาครืน)

พิมพกา : ตอบค่ะๆ (ขำ) ค่ะพี่ปรัชล่ะคะ

ปรัชญา : ก็คงต้องการระบบที่มันสอดคล้องกับปัจจุบัน สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของสังคม สอดคล้องกับความคิดความอ่านความเข้าใจของบ้านนี้เมืองนี้ ในพ.ศ.นี้ มันแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือถ้าสมมติว่ามีพระเมาเหล้าอยู่ในหนังเรื่องนี้ แล้วมีกรมศาสนามาดู เขาก็คงเห็นว่าต้องเซ็นเซอร์ แต่ถ้าพระเป็นพระปลอมล่ะ ผมไม่รู้ว่าพระในหนังของคุณเจ้ยเป็นพระจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่มันเป็นเรื่องที่เขาสมมติขึ้นมา มันไม่ใช่ของจริงเลย แต่มันมีระบบที่ทำให้เขาเข้ามาตัดสินได้ เขาก็เข้ามาตัดสินทันที ผมไม่โทษคนตัดสินนะ โทษที่ระบบ เราต้องปิดระบบบางระบบให้มันสอดคล้อง ไม่ว่าเราจะพูดเรื่องใดๆ ขึ้นมา แต่ที่นี้หนังไทยพอพูดอะไรเรื่องนี้ขึ้นมา ผมรู้สึกว่าปฏิกิริยาคนดู เริ่มมองเจตนาเราผิด คล้ายๆ ว่าเราอยากจะพูดหยาบ เราอยากจะเสนอความรุนแรง เราไม่รับผิดชอบต่อลูกหลานเขา จริงๆ เราก็อยากจะขยายตรงนี้ว่าเรารับผิดชอบนะครับ อย่างหนังของคุณเจ้ยนี่ เราไม่ได้มานั่งถกกันว่าภาพนั้นมันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่เราพูดเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอ แต่ถ้าคุณหวาดระแวงเรื่องลูกหลาน หรือคนที่วิจารณญาณไม่เหมาะสมเนี่ย เราก็นำเสนอระบบใหม่ ซึ่งมันก็ไม่ซับซ้อนอะไร มันก็มีสื่อบางสื่อที่เขาเซ็นเซอร์ไม่ได้ อินเตอร์เน็ตนี่เขาเซ็นเซอร์ไม่ได้เลย คือวันนึงประชาชนก็นำเสนอออกมา แม้ไม่ใช่ผู้ผลิต วันนึงก็ไปเสนอคลิปวิดีโอ บทความอะไร หรือทำหนังสั้นแล้วเสนอเข้าไปในอินเตอร์เน็ต ก็ไม่เห็นต้องมีใครมาตรวจสอบ เพราะฉะนั้นตรงนี้ มันไม่ทันยุคทันสมัย แค่นั้นเอง




พิมพกา : คุณปุ๊กค่ะ

พันธุ์ธัมม์ : ผมคิดว่าถ้าตัวเองเรียกร้องได้ แต่ไม่รู้จะทำได้ยังไง ผมอยากจะเรียกร้องให้เกิดทัศนคติดที่ยุตติธรรมต่อภาพยนตร์ เพราะผมคิดว่านี่คือประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้ว่าจะเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่เป็นธรรมต่อภาพยนตร์ แม้กระทั่งในฐานะสื่อ เมื่อจะออกกฎหมายว่าจะต้องไม่มีการปิดกั้นสื่อ ทั้งๆ ที่ภาพยนตร์เป็นสื่อ ก็ไม่ได้รับความยุติธรรมให้ถูกบรรจุให้ภาพยนตร์เป็นสื่อ อย่างตอนที่ผมอยู่ในคณะที่คุณลิ(ชลิดา) พูดถึง ที่เขาเรียกกันว่าเซ็นเซอร์ม้วนเดียวจบนี่ เขาได้ออกไปทำประชาพิจารณ์ตามจุดต่างๆ คณะทั้งหมดที่ออกไปทำนี่ ก็จะมีทัศนะคติว่าเมื่ออกไปทำแล้วจะต้องได้ยินคำตอบจากผู้ที่เป็นประชาชนแน่เลยว่า จะต้องเซ็นเซอร์ แต่มันกลับตาลปัด อย่างที่ผมไปด้วย ที่เชียงใหม่ คนที่เขานั่งอยู่ด้วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กด้วยซ้ำไป เขาก็บอกว่า เหมือนที่คุณป๊อดพูดน่ะ กูดูแลตัวกูเองได้ กูคิดเป็น แต่ผู้ที่เกี่ยวกับงานตรงนี้ทั้งหมดกลับมีทัศนคติในเชิงลบกับภาพยนตร์ พอไปถึงขั้นกฤษฎีกา แม้กระทั่งกระบวนการที่ทำมา คณะอนุกรรมการกรมศาสนาและวัฒนธรรมที่คุณลิบอกว่ามีแม่ชี มีอะไรด้วยนี่ สรุปกันแล้วว่าประชาชนทั่วไปต้องการพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ที่ไม่มีการเซ็นเซอร์ ควรจะเป็นเรตติ้ง แต่เมื่อเสนอเข้าไปในกฤษฎีกา เมื่อกฤษฎีกามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อภาพยนตร์ กฤษฎีกาก็จะยืนยันกระต่ายขาเดียว ฉันจะต้องออกกฏหมายไม่เป็นไปตามที่เธอต้องการล่ะ แม้เธอจะไปทำประชาพิจารณ์มาแล้ว อ่ะ อยากได้เซ็นเซอร์ก็เซ็นเซอร์ อยากได้เรตติ้งก็ได้ แต่ในเรตติ้งนั้นแอบแฝงกลายเป็นโทษสองชั้นคือ ถ้าเซ็นเซอร์ผ่านแล้วจะจัดเรตให้ แต่ถ้าเซ็นเซอร์ไม่ผ่านก็จะไม่ผ่าน ซึ่งมันผิดเจตนารมย์ของการที่ไปทำประชาพิจารณ์มา ผมรู้สึกว่าเขามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อภาพยนตร์อยู่ทั่วๆ ไปในสังคมไทย ก็ไม่รู้ว่าจะทำให้เกิดทัศนคติที่ดีได้ยังไง ผมคิดว่าถ้าเขามีทัศนคติที่ดีว่า ภาพยนตร์ไม่ใช่อาวุธร้าย ไม่ใช่ยาพิษ แต่ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ทำให้ก่อปัญญา อย่างเช่นที่มีเสื้อยืด ภาพยนตร์ก่อให้เกิดปัญญา ทำไมทัศนคตินี้มันไม่ถูกเผยแพร่ไปสู่ประชาชนกันบ้าง มันกลับกลายเป็นทัศนคติแปลกๆ ทั้งนั้นเลย ผมคิดว่าถ้าตัวเองเรียกร้องได้ อยากจะเรียกร้องความยุติธรรมให้วงการภาพยนตร์ ถ้าได้แค่นี้ก็คงจะทำให้ปัญหาเสรีภาพของเราหมดไป

พิมพกา : สำหรับเจ้ย อยากถามจริงๆ ว่า ทำไมถึงไม่สู้เพื่อที่จะฉายหนังเรื่องนี้ ทำไมถึงคิดว่าจะไม่ฉายหนังเรื่องนี้อีก

อภิชาติพงศ์ : ก็สู้อยู่เนี่ย คือเราจะไม่ฉายจนกว่าพรบ.นี่จะทิ้งไป หรือพรบ.ใหม่ที่ค่อนข้างจะงี่เง่านี่จะไม่ได้ผ่าน แต่ว่าน่าจะเป็นอะไรที่เราทุกคนที่ได้ร่างกันมาแล้วว่าเราอยากจะได้อะไร จนกว่าสิ่งนั้นสำเร็จน่ะเราถึงจะยอมฉาย เพราะไม่งั้นมันก็เป็นอย่างที่เขาว่ากันว่า เป็นเพียงแค่การโปรโมทหนังเรื่องนึง ซึ่งทางเซ็นเซอร์นี่เขาก็ว่าทำไมไม่อุทธรณ์ล่ะ ทำไมไม่อุทธรณ์ ซึ่งเราก็คิดว่า พออุทธรณ์มึงให้กูฉาย มึงก็โดนด่าอีก คือที่จะมาฉายเนี่ย มันก็ไม่ได้เงินอยู่แล้ว เพราะเราต้องควักเนื้อ คือที่เราฉายเราอยากให้คนกลุ่มที่เราคิดว่าเขาอยากดูหนังเรา แล้วต้องเสพย์ทางจอใหญ่ ในโรงภาพยนตร์ในห้องมืดเท่านั้น ได้มีโอกาสได้ดู นี่คือจุดประสงค์

ผมรู้สึกว่าในทางอุดมคติ ผมก็เห็นด้วยกับพี่จี๊ดว่าก็อยากให้เหมือนประเทศที่เจริญแล้วพัฒนาแล้วเขาทำกัน ซึ่งมันก็คงเป็นรูปแบบแบบไทยๆ แต่ขอให้เริ่มขึ้นมาก่อน เราอยากจะล้มไอ้กองเซ็นเซอร์นี่ออกไป แล้วที่เราประทับใจมากก็คือมี petition online ขึ้นมา แล้วมีคนเข้ามาเซ็นสี่พันห้าร้อยคนภายในเวลาอาทิตย์เดียว ซึ่งนี่คือเสียงของประชาชน ซึ่งมันอาจจะเกิดจากปีที่แล้วก็ได้ ซึ่งระบบการเมือง เขารู้สึกแล้วว่า เสียงเขามีค่า จุดนี้น่าสนใจที่จะดันอย่างนี้ขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่คุณปุ๊กว่า เรื่องทัศนคติ เราเปลี่ยนกันไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำตามระบบไทยๆ ซึ่งต้องขึ้นไปข้างบน ต้องผ่าน step พวกที่มีทัศนคติไม่เข้าใจ สอนอีกสองชาติก็ไม่เข้าใจ ก็คือไปถึงนายก ไปถึงใครก็ตาม ทำให้เขาเข้าใจว่านี่คือสิทธิของเรานะ แล้วคือกลุ่มคนเท่านี้เลยนะที่เห็น อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะเห็นก็คือแรงพลังมวลชน แล้วก็พรบ.นรกนี่ พรบ.อันใหม่ที่น่ากลัวมากนี่ ทั้งเซ็นเซอร์ ทั้งอะไรด้วยนี่ มันออกมาจากอะไรนะ ออกมาจากกระทรวงวัฒนธรรมหรือเปล่า

ชลิดา : มันไม่ได้ออกจากกระทรวงวัฒนธรรม เดี๋ยวเขาจะเป็นแพะเกินไป แต่กระทรวงวัฒนธรรมได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ แต่การร่างนี่อาจจะเกิดจากทางกฤษฎีกายำกฎหมายต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราจะช่วยๆ กันได้ คือเราต้องเฝ้าระวังกลับว่ากฎหมายจะออกมาเป็นยังไง คือถ้าเราเห็นว่าไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ เราก็ต้องแสดงความคิดเห็นออกมา คือกฎหมายมันก็ไม่ออกมาเพื่อจะบังคับเราได้ง่ายๆ คือปรกติคนจะไม่ค่อยระวังเพราะคิดว่ากฎหมายมันก็มีขั้นตอนของมัน

จิระนันท์ : คำว่าเฝ้าระวังนี่ชอบ เพราะเป็นการป้องกันล่วงหน้า ป้องกันการตีความที่เรานึกไม่ถึงตกตะลึงพึงเพริศ(ผู้ฟังขำ) อย่างเช่นเวลาเราไปเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดานี่นะ มันจะมีหมวดหนึ่งว่า ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ได้แก่ ทนายความ แพทย์ วิศวกร และผู้ประกอบประณีตศิลป์ศิลปกรรม อันนี้ศิลปินป๊อดอยู่ด้วยหรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่านักเขียนนี่ ไม่รวม เพราะคุณไม่ได้ลงทุนซื้อวัสดุและตั้งกิจการ(ผู้ฟังขำ) ผู้กำกับนี่มีมั้ย ก็อย่างมากคุณก็เอาบิลค่าคอมพิวเตอร์ไปหักค่าใช้จ่ายก็แค่นั้นล่ะ(ผู้ฟังหัวเราะครืน) เพราะฉะนั้นนี่คืออุทธาหรณ์ของคำว่าต้องเฝ้าระวัง การตีความที่หลุดโลกติงต๊องได้ขนาดนี้(ผู้ฟังหัวเราะครืน)

อภิชาติพงศ์ : เรารู้สึกว่าพรบ.นรกนี่ คนทำหนังน่าจะมีเสียงออกมาได้ เพราะรู้สึกว่าอย่างทางสมาคมเอง หลังจากนี้ก็น่าจะมีการหาข้อสรุปกันว่าไม่ได้แล้วนะอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ก็ได้ ซึ่งมันอาจจะไม่ผ่าน

แต่สิ่งที่ผมอยากจะย้ำกันบ่อยๆ ก็คือความกลัว ของระบบที่มันเป็นอย่างนี้ แล้วจนถึงจุดนี้ ทำให้ผมรู้สึกกลัว ปรกติผมไม่เคยกลัว เวลาเราทำภาพยนตร์ เราก็เลยกลัวตัวเองว่า เฮ้ยเราไปอยู่ในระบบนี้ด้วยหรือ เฮ้ยเราย้ายประเทศดีมั้ย เพราะเราสู้มาเยอะ ตั้งแต่ทำหนังเรื่องแรก มาถึงปัจจุบัน แล้วพอมาเจออะไรอย่างนี้ ปรกติไม่ชอบที่จะออกมาพูดอย่างนี้ แต่จำเป็นต้องพูด แต่ถ้ามันถึงเวลาแล้วนี่ แล้วไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องย้ายประเทศ เพื่อที่เราจะทำงานที่เราอยากจะทำ แล้วต้องทำไกด์บุคขึ้นมาว่า ทำไงคนไทยบางคนถึงจะออกไปประเทศไหนได้บ้าง ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงๆ ที่อเมริกา ซึ่งเขาต่อต้านบุชมาก แล้วเขามีไกด์บุคออกมาเต็มไปหมดเลยว่า ทำยังไงถึงจะลี้ภัยไปแคนนาดาได้ นี่คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ก็คือถ้าเราต่อต้านระบบนี้ เราก็ไม่ต้องอยู่ในระบบนี้ ตอนนี้เรากลัวที่จะต้องเข้าไปเป็นเบี้ยล่างของระบบนี้ แล้วก็ได้เสิร์ชอินเตอร์เน็ต มีกวีชาวเยอรมัน เขากล่าวไว้ว่า Whenever they burn books, they will also in the end burn human being. ถ้าแปลเป็นไทยได้ว่า เมื่อใดที่เขาสามารถเผาทำลายหนังสือแล้ว สุดท้ายพวกเขาก็สามารถเผาประชาชนทั้งเป็นได้ ในอนาคต เพราะฉะนั้นเราต้องคิดถึงจุดนี้ด้วย ว่ามันคืออนาคตของเราที่เราจะต้องเผชิญกับมัน



พิมพกา : ฟังแล้วเศร้านะคะ เศร้ากว่าตอนแรกอีก แต่เจ้ยอย่าเพิ่งเศร้านะคะ ในตอนแรกเราพูดถึงการลงชื่อใน petition ไม่ทราบว่าท่านสื่อมวลชนได้ทราบเรื่องนี้หรือเปล่า คือช่วงที่ผ่านมาเรามีการทำข้อเสนอ เพื่อเรียกร้องต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปลอดจากการแทรกแซง และจำกัดสิทธิเสรีภาพ จากอำนาจรัฐ ดุจเดียวกับสื่อมวลชนอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนที่รู้สึกไม่พอใจ รู้สึกถูกคุกคามบางอย่างเหมือนกัน ซึ่งอันนี้อยากให้คุณชลิดาเล่าให้ฟังด้วยเหมือนกันเพราะมันจะเกี่ยวข้องกับ
สิ่งที่เราจะทำกันวันนี้ด้วย คือวันนื้เราจะไม่ใช่แค่มาคุยกับคุณอภิชาติพงศ์ แล้วเราก็จะจบกันไป

ชลิดา : คือถือว่าเป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ และปัจจุบันทันด่วน ด้วยการที่เราเห็นในสิ่งเดียวกันว่าเราไม่ได้มาต่อสู้เพื่อหนังแสงศตวรรษเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ เรากำลังจะรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่แต่คนทำอย่างเดียว แต่มีคนดูด้วย เพราะมันคือสิ่งที่กระทบต่อทุกคน ในเบื้องต้น ข้อเรียกร้องตอนนี้เรามีแค่ 2 ข้อที่เห็นได้ชัดมากๆ คือ 1.เรื่องของพรบ.ภาพยนตร์ 2473 ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเพิ่งคิดได้ว่า...มันแปลกมากเพราะเราก็ติดตาม เรื่องของพรบ.มานาน แต่เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเรื่องของพรบ.2473 จริงๆ แล้วมันขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้รัฐธรรมนูญตอนนี้จะไม่มีแล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยถ้ารัฐธรรมนูญมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลายๆ อย่าง หลายๆ ข้อในนั้น (ในพรบ.2473) มันน่าจะขัด เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาก่อนที่จะมาสู่ประชาธิปไตย (เรามีรัฐธรรมมนูญปี 2475) ไม่เคยมีคนมองในแง่นี้มาก่อน เราก็อยู่ในกฎหมายนี้มานาน เราก็คิดว่าอาจต้องจำยอม อาจจะเถียงบ้าง แต่เราก็จำยอม คิดว่าเราน่าจะมีการทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะให้ยกเลิกพรบ.นี้ แล้วก็ถ้าจะมีกฎหมายใหม่ หรือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องให้หลักประกัน แล้วก็รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการที่จะรับรู้ และการแสดงออกผ่านสื่อ ซึ่งในที่นี้รวมถึงภาพยนตร์ด้วย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตอนนี้สองข้อนี้คือข้อที่เราต้องการในเบื้องต้น แล้วการที่เราทำเป็นเครือข่ายขึ้นมา เพราะไม่ต้องการให้ทุกอย่างมันหยุดแค่วันนี้ เราคิดว่าจะต้องมีการพูดคุย และนำเสนอเรื่องนี้ไปสู่ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ด้วย การทำอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเราเอาแต่ได้อยู่ฝ่ายเดียว เราอยากจะฟังด้วย อย่างแม้แต่กลุ่มพ่อแม่ ที่เราคิดกันไปเอง แต่เขามองอีกด้านนึง เพราะฉะนั้นข้อเสนอมันต้องมีหลักประกัน สำหรับคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย เราอยากให้มีการเคลื่อนไหว ก็เลยตั้งกันเล่นๆ ว่า Free Thai Cinema Movement ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการปลดแอกเฉพาะคนทำหนังเท่านั้น แต่มันหมายถึงสื่อภาพยนตร์ในประเทศไทย อย่างน้อยควรจะได้รับแสงสว่างมากกว่าที่เป็นอยู่ เบื้องต้นถ้าใครต้องการสนับสนุน แล้วยังไม่ได้เซ็นpetition ก็สามารถไปเซ็นกันได้ ถ้าใครเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำอยู่ก็ช่วยเซ็นด้วย หรือว่าจะส่งต่อๆ ไปยังคนอื่น ถ่ายทอดความเข้าใจนี้ ไปสู่คนอื่นก็จะเป็นการช่วยกัน

พิมพกา : ตอนนี้ใครอยากจะถามอะไรก็เชิญเลยนะคะ

มานิต ศรีวานิชภูมิ : ผมคิดว่าหลายๆ คนมากันด้วยความโกรธเหมือนกัน ที่เราถูกคนบางคนใช้อำนาจ ผมคิดว่ามันควรจะพ้นสมัยแล้วนะครับเรื่องการเซ็นเซอร์ ผมอยากเสนอเพื่อให้เวทีนี้มีความเคลื่อนไหวขยับต่อไป ไหนๆ คุณเจ้ยอุตส่าห์เสียสละเพื่อจะไม่ยอมฉายหนังตัวเอง ในประเทศที่กำลังมีปัญหานี่ ผมอยากให้คุณเจ้ยนำเรื่องนี้ เข้าสู่ศาล เป็นการฟ้องเพื่อให้เกิดคดี จะเป็นคดีแรกที่พิจารณาต่อกฎหมายเรื่องเซ็นเซอร์ว่ามันขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือเปล่า เพราะเรื่องนี้ยังไม่เคยมีผู้กำกับคนไหนที่ใช้ช่องทางนี้เลย ผมเสนอว่าลองศึกษากับนักกฎหมายแล้วเปิดประเด็นเลยครับ




โปรดติดตามตอนต่อไปวันพรุ่งนี้...

(ถอดเทปงานสัมมนาโดย ธัญสก)